ทำความรู้จัก “มวยไทย” ตั้งแต่ความเป็นมาและความเป็นไปให้มากกว่าเดิม

มวยไทยออนไลน์
มวยไทยออนไลน์

ทุกคนคงจะรู้จัก “มวย” ซึ่งเป็นวิธีการต่อสู้ที่มีมายาวนานตั้งแต่โบราณกาล ที่ส่งต่อกันมาตั้งแต่อดีตจากรุ่นสู่รุ่น แต่จริงๆ แล้วเรื่องราวของมวยไทยนั้นมีประวัติความเป็นมาที่น่าติดตาม ถ้าอยากรู้แล้วมาติดตามประวัติความเป็นมาของมวยไทยกันได้เลยค่ะ

ประวัติศาสตร์ของมวยไทยอันยาวนานนั้นเริ่มต้นขึ้นจากการทำสงครามในสมัยโบราณ ซึ่งมีจุดเด่นคือการใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายมาต่อสู้กับศัตรูอย่างมีชั้นเชิงและศิลปะชั้นสูง โดยถือเป็นทั้งศิลปะการป้องกันตัวและการจู่โจมต่อสู้ โดยอวัยวะของร่างกายที่นิยมนำมาใช้ในการต่อสู้มวยไทย มีตัวอย่างเช่น หมัด แข้ง ศอก เท้า และเข่า มวยไทยนั้นเป็นการต่อสู้ที่มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกับศิลปะการต่อสู้ของชนชาติอื่นๆ และนับได้ว่าเป็นศิลปวิทยาการประจำชาติไทย เดิมที่มีการนำศิลปะมวยไทยมาใช้ในการฝึกการสู้รบของทหาร เนื่องจากในสมัยโบราณ ในช่วงที่คนไทยอยู่ในช่วงการทำศึกสงครามที่กินระยะเวลายาวนาน ทหารรวมทั้งประชาชนจึงต้องเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้เอาไวติดตัว และฝึกฝนเพื่อความเชี่ยวชาญเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ และได้มีการจัดตั้งสถานที่ที่ใช้เป็นสำนักฝึกฝนมวยไทยขึ้นมามากมาย เพื่อฝึกฝนทหารและคนรุ่นใหม่เพื่อสืบทอดวิชามวยไทยจากรุ่นสู่รุ่นด้วยนั่นเอง

ประวัติความเป็นมาของมวยไทยในสมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1781-1918)

ในสมัยสุโขทัย มีการบรรจุมวยไทยลงเป็นวิชาพื้นฐานในหลักสูตรการศึกษาวิชาความรู้ของกษัตริย์ เพื่อเป็นการฝึกให้กษัตริย์เป็นนักสู้ที่สามารถต่อสู้ในสมรภูมิอย่างกล้าหาญ และเพื่อฝึกสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงเตรียมพร้อมอยู่เสมอ โดยมีบันทึกในพงศาวดารกล่าวไว้ว่า พ่อขุนศรีอิทราทิตย์ ได้ส่งเจ้าชายซึ่งเป็นโอรสพระองค์ที่สองเพื่อไปร่ำเรียนฝึกฝนมวยไทยที่สำนักในเมืองลพบุรี หรือการที่มีการบันทึกลงในตำรับพิชัยสงครามเกี่ยวกับมวยไทย ว่ามีการใช้ศิลปะการต่อสู้มวยไทยร่วมกับการใช้อาวุธต่อสู้ต่างๆ เช่น ดาบ ธนู โล่ หอก มีด เป็นต้น

 

ประวัติความเป็นมาของมวยไทยในสมัยอยุธยา (พ.ศ. 1893 – 2310)

ในสมัยการปกครองของพระนารายณ์มหาราช เป็นยุคสมัยที่มีความเจริญรุ่งเรืองและบ้านเมืองสงบร่มเย็นเป็นอย่างมาก พระมหากษัตริย์ได้มีการสนับสนุนการกีฬาอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะกีฬามวยไทย ซึ่งได้รับความนิยมจนสามารถทำเป็นอาชีพและเกิดค่ายมวยขึ้นมากมาย ซึ่งในช่วงยุคสมัยนี้มวยไทยจะชกกันในลานดิน ที่มีการล้อมบริเวณพื้นที่กั้นเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยนักมวยจะใช้ด้ายที่ชุบน้ำมันดินหรือแป้งจนเกิดความแข็งมาพันมือ โดยจะเรียกกันว่ามวยคาดเชือก สวมมงคลบนศีรษะ และใช้ประเจียดผูกเอาไว้ที่ต้นแขน ในเรื่องการเลือกคู่ชกนั้นเป็นตามความสมัครใจและการจัดการของผู้จัดการแข็งขัน โดยไม่ได้จัดจากน้ำหนักหรือช่วงอายุ และมีกติกาการแพ้ชนะคือต่อยจนกว่าจะมีผู้ยอมแพ้

 

ประวัติความเป็นมาของมวยไทยในสมัยธนบุรี (พ.ศ. 2310 – 2325)

ในช่วง 14 ในสมัยธนบุรี หลังจากพระเจ้าตากสินมหาราชได้กอบกู้เอกราชคืนมา บ้านเมืองก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาเรื่อยๆ ทำให้การฝึกมวยไทยเป็นการฝึกเพื่อการทำสงครามและการทหารมากขึ้น ทางด้านการจัดคู่ชกมวยก็เริ่มนิยมการจัดให้นักมวยต่างถิ่น ต่างค่าย หรือต่างครูมาชกกัน ซึ่งยังไม่มีกติกาการแข่งที่ชัดเจน ไม่มีการให้คะแนน และยังคงชกกันจนกว่าจะมีหนึ่งฝ่ายที่ยอมแพ้ไปเอง แข่งขันบนสังเวียนลานดินหรือลานวัด และยังคงคาดมงคลผูกประเจียดเหมือนเช่นเดิม

 

ประวัติความเป็นมาของมวยไทยในรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2325 – ปัจจุบัน)

ในช่วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กีฬามวยไทยนั้นเป็นที่นิยมมาก และช่วงที่เฟื่องฟูมากที่สุดคือช่วงรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้ร่ำเรียนและฝึกฝนมวยไทยด้วยพระองค์เองและยังทรงโปรดให้มีการแข่งขันชกมวยไทยในบริเวณพระที่นั่ง ซึ่งมีการเฟ้นหาและคัดเลือกนักมวยที่มีฝีมือดีจากพื้นภาคต่างๆ มาแข่งขันด้วยกัน นอกจากนั้นยังมีการบรรจุวิชามวยไทยเป็นวิชาเรียนในโรงเรียนครูพลศึกษา และโปรดให้ชกมวยถวายบริเวณหน้าพระที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของครูมวยไทยด้วยกันเอง และการแข่งขันของนักมวยไทยและนักมวยชาวต่างชาติ และยังรุ่งเรืองต่อเนื่องมาถึงรัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 7 โดยการใช้นวมแทนการพันเชือกเกิดขึ้นจาก เหตุการณ์ที่นายแพ เลี้ยงประเสริฐ จากจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ต่อยนาย เจียร์ ซึ่งเป็นนักมวยเขมรจนเสียชีวิต จากนั้นมาจึงมีการสวมนวมแทน และในภายหลังเริ่มมีการตั้งกฎ กติกา และจัดตั้งเวทีมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย นั่นคือ เวทีลุมพินีและเวทีราชดำเนิน ซึ่งยังดำเนินการจัดการแข่งขันต่อยมวยมาจนถึงปัจจุบัน

 

ต่อมาได้มีการสถาปนา “วันมวยไทย” ขึ้นโดยมีการรวบรวมระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ว่าควรตั้งวันใดในสมัยใดเป็นวันมวยไทย เมื่อประมวลเนื้อหาพระราชประวัติ พระเอกลักษณ์ และพระคุณลักษณะของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่มีความโดดเด่นด้านวิชาศิลปะมวยไทยทั้งหมด สุดท้ายจึงมีการมติเลือกวันสำคัญของสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือสักวันหนึ่งเป็นวันมวยไทย เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงโปรดการชกมวยไทย และยังได้เสด็จลงไปชกมวยกับประชาชน มากไปกว่านั้นพระองค์ยังได้ทรงคิดค้นท่าแม่ไม้มวยไทยและกลมวยขึ้นมาเป็นต้นแบบ ที่เรียกว่า ตำรามวยไทยพระเจ้าเสือ ที่ให้ไว้เป็นมรดกสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน จึงมีการกำหนดให้วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ เป็น “วันมวยไทย”

 

ใส่ความเห็น